God of War Ragnarök
[Review] God of War Ragnarök บทสรุปของเทพเจ้าสงคราม ในโลกตำนานนอร์ส
Kratos ที่น่าจะรอดชีวิตจาก Blade of Olympus อยู่ดี ๆ ก็มาโผล่ใน Midgard หลังจากที่ปล่อยให้ผู้เล่นต่างสงสัยในชะตากรรมของเขาว่าเป็นตายร้ายดียังไง God of War (2018) เป็นเกมที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเล่าเรื่อง และมาตรฐานการทำเกมของ Sony Interactive Entertainment ได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัล Game of the Year ในปีนั้นไป
God of War Ragnarök คือเรื่องราวที่จะเข้ามาสานต่อฉากจบของภาค 2018 โดยจะเล่าเรื่องใน 3 ปีต่อมา ซึ่งแน่นอนว่าหากใครที่ไม่เคยเล่นภาค 2018 มาก่อน ก็จะไม่มีทางเข้าใจอะไรในภาค Ragnarök นี้ได้เลย และจะไม่สามารถปะติดปะต่อเนื้อเรื่องอะไรได้ ถึงแม้ตัวเกมจะมีวิดิโอย้อนหลังเล่าเรื่องราวในเกมภาค 2018 ให้เราฟัง แต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้เล่นใหม่ ที่ไม่เคยเล่นมาก่อนจะเข้าใจมันได้อย่างเต็มที่
สำหรับส่วนตัวผมแล้วนั้นมองว่า God of War Ragnarök เป็นเกมที่หาจุดยืนของตัวเองไม่ได้ ระหว่างสุดยอดหนังฮอลลีวูด หรือสุดยอดวิดีโอเกม ความรู้สึกของผมตลอด 30 ชั่วโมงหลังเล่นจบ ผมกลับรู้สึกเหมือนได้ดูหนัง Marvel สักเรื่อง แต่เป็นหนัง Marvel ที่มีปัญหาในการเล่าเรื่อง และบทสรุปของเรื่องราวที่ไม่น่าประทับใจสักเท่าไรนัก
Story
God of War Ragnarök จะเล่าเรื่องต่อจากภาค 2018 ใน 3 ปีให้หลัง หลังจากการตายของ Baldur ทำให้ทั้ง 9 อาณาจักรตกอยู่ใน Fimbulwinter ซึ่งเป็นเหมือนโหมโรงของ Ragnarök ตามคำทำนายของยักษ์ที่เตือนถึงวันสิ้นโลก ที่ผู้คนจะล้มตาย และ Asgard จะล่มสลาย พร้อมกับการตายของ Odin
Kratos ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือพยายามเป็นพ่อให้ดีขึ้นสำหรับลูกชายของเขา Atreus ที่หลังจากได้รับรู้ความจริงว่าตัวเองถูกพวกยักษ์เรียกว่า Loki ตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเขาได้หลบหนีการตามล่าของ Freya ที่เธอก็ยังคงโกรธแค้น Kratos ที่ไปฆ่าลูกชาย (Baldur) ของเธอ แน่นอนว่าสิ่งที่ Kratos ทำได้ก็คือพยายามหลบหนี และเลี่ยงที่จะต่อสู้กับ Freya มาตลอด เพราะเขาไม่อยากฆ่าเธอ เพราะเธอเคยช่วยชีวิต Atreus เอาไว้
ADVERTISEMENT
เรื่องราวของภาคนี้หลัก ๆ จะเริ่มจากที่ Odin และ Thor ได้มาเคราะประตูบ้านของ Kratos และมาเสนอทางออกแบบสันติวิธีให้ เนื่องจากว่า Baldur เองก็เป็นลูกชายของ Odin และน้องชายของ Thor โดยสันติวิธีของ Odin ก็คือ Atreus จะต้องเลิกตามหา Tyr เทพเจ้าแห่งสงคราม หรือก็คือ God of War ของโลกนี้ (Norse) และพวกเขาก็จะไม่มายุ่งอะไรกับ Kratos และลูกชายของเขาอีกตลอดไป
แน่นอนว่ามีหรือคนอย่าง Kratos จะยอมตอบตกลง ถึงแม้ตัวเขาเองจะไม่รู้เรื่องเลยว่าลูกชายเขา พยายามตามหาตัว Tyr มาตลอด แต่เขารู้สึกแปลก ๆ ว่าคนอย่าง Odin ถึงกลับลงมาให้ข้อเสนอแบบนี้ หลังจากที่ตัวเขาฆ่าลูกชายของเขาไป มันจึงต้องมีอะไรบางอย่างแน่นอน และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใน God of War Ragnarök ที่ Kratos และ Atreus จะได้ออกผจญภัยกันไปใน 9 อาณาจักรอีกครั้ง
จนกระทั่ง
ทุกอย่างฟังดูดี และเริ่มต้นด้วยดี 3-4 ชั่วโมงแรกตลอดการเล่น ผมรู้สึกดีกับสิ่งที่เกมได้นำเสนอ การที่เราได้พบเจอกับสหายเก่า และการเดินทางไปในสถานที่เดิม เพิ่มเติมคือจุดหมายใหม่ ๆ และปริศนาหลาย ๆ อย่างที่ตัวเกมภาคที่แล้วได้ทิ้งเอาไว้มากมาย ผมรู้สึกว่าเราน่าจะได้คำตอบในภาคนี้ มันทำให้ผมตื่นเต้นเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีจุดขัดใจในหลาย ๆ จุด ทำให้สรุปแล้วผมกลับไม่ได้อะไรเลยหลังจากเล่นมาจนจบ และพูดตามตรงว่าค่อนข้างผิดหวัง
ตัวเกมค่อนข้างมีปัญหาในการเล่าเรื่อง แต่ต้องบอกก่อนเลยว่า ผมเข้าใจ Story Pacing ของมันดีสำหรับ God of War เอาจริง ๆ แล้วจุดเปลี่ยนของมันก็แสดงให้เห็นในภาค 2018 แล้วว่าเกมมันจะมาในทางนี้ แต่ปัญหาของภาค Ragnarök ก็คือการยืดเรื่องแบบไม่จำเป็น
หลาย ๆ ฉาก ถูกใส่เข้ามาแบบเหมือนต้องการจะสื่อและสร้างความสัมพันธ์ครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันควรจะจบไปได้แล้วในภาค 2018 ไม่เข้าใจว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ในเกม) Atreus ไม่ได้โตขึ้นเลยหรืออย่างไร และ Kratos เองก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวเองขึ้นเลยหรือ ทำให้ผมถึงรู้สึกว่าเวลาในเกมมันไม่ได้ผ่านมานานเลย ทั้ง ๆ ที่ 3 ปี (ในเกม) มันเป็นเวลาที่นานมาก ๆ และตัวละครเหล่านี้ควรจะโตขึ้นมากกว่านี้แล้ว หลังจากผ่านเรื่องราวอะไรด้วยกันมาตลอด
หลาย ๆ ส่วนในฉากยืดเรื่องเหล่านี้ (รวมถึงความสัมพันธ์ครอบครัว) ควรจะเอาไปเล่าเรื่องที่มันน่าสนใจมากกว่านี้ โลกของตำนานนอร์ส มันมีเรื่องราวให้เล่ามากมายหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายแล้วภาคนี้ก็ดันไปเน้นเรื่อง Ragnarök แทน ทั้ง ๆ ที่ตัวเกมมันมีโอกาสที่จะทำเป็นไตรภาค และมีเวลาให้ผู้เล่นได้ซึมซับโลกนี้มากกว่านี้ มันรู้สึกเหมือนกับผมที่กำลังดู A New Hope อยู่ดี ๆ แล้วก็ข้ามไป Return of the Jedi เลย ทั้ง ๆ ที่ควรดู Empire Strikes Back ก่อนแท้ ๆ
ในส่วนของตัวละคร ตลอดทั้งเรื่องนั้นเราจะได้พบเจอกับเพื่อนใหม่ ๆ มากมาย แนะนอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ Tyr และก็มีอีกหลาย ๆ ตัว ซึ่งการมาของตัวละครใหม่เหล่านี้ ไม่มีมีความน่าสนใจอะไรเลย กลับกันผมรู้สึกว่าตัวละครใหม่ ๆ มันไม่มีความน่าจดจำอะไรเลย เหมือนอย่างจะใส่เข้ามาก็ใส่ตามบทของเนื้อเรื่อง แตกต่างจาก Mimir หรือ Freya ในภาค 2018 ที่ทำได้ดีกว่า หรือแม้แต่ตัวละครอย่าง Brok และ Sindri ที่ยังดูดี และมีมิติขึ้นมากกว่าตัวละครใหม่ด้วยซ้ำ
สุดท้ายคือบทสรุปของเรื่องราว แน่นอนว่าผมพูดอะไรไม่ได้ เพราะมันจะเป็นการสปอยล์เนื้อหาหลักของเกม แต่พูดตามตรง ว่าผมไม่ค่อยโอเคกับบทสรุปแบบนี้เท่าไร แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี หรือไม่ถูกใจผมแต่อย่างใด แต่เพียงแค่ว่ามันรู้สึกว่า God of War ไตรภาคดั้งเดิมนั้น ทำได้ดีกว่ามากหลายเท่าเลยทีเดียว
นอกจากเนื้อเรื่องหลักแล้ว ตัวเกมก็จะมีเควสต์รองให้ทำตลอดทั้งเกม โดยมันจะมาในรูปแบบ “คำขอ” ของเหล่า NPC ภายในเกมตามอาณาจักรต่าง ๆ ที่เราเลือกจะไปหรือไม่ไปก็ได้ หรือเราอาจจะกลับมาทำที่หลังก็ยังได้ ในส่วนนี้มันจะช่วยขยายเรื่องราวของทั้ง 9 อาณาจักร ออกไปในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีทั้งน่าสนใจมาก ๆ และไม่น่าสนใจเลยก็มี
และมีอยู่หลายเควสต์รองเลยทีเดียว ที่มันน่าสนใจมาก ๆ และถูกควรเอาใส่เข้ามาอยู่ในเนื้อเรื่องหลักเสียด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องที่ถ้าไม่เล่า เราก็อาจจะไม่เข้าใจตัวละครตัวนั้นไปเลย กลับกันในเนื้อเรื่องหลักดันเสียเวลาไปกับอะไรหลาย ๆ อย่างมากจนเกินความจำเป็น และมันให้ความรู้สึกเหมือนพยายามเข็นเราขึ้นไปบนภูเขาขนาดใหญ่ เพื่อที่จะให้มันจบเกมสักที และนี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ผมดันรู้สึกว่าเควสต์รอง มันดันน่าสนใจกว่าเนื้อเรื่องหลัก (ครั้งสุดท้ายก็น่าจะเป็น The Witcher 3)
เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่ตลอดทั้งเกมเรากำลังพูดถึง Ragnarök หรืออาณาจักรอย่าง Asgard กันอยู่ แต่ผมดันรู้สึกว่าอาณาจักรอย่าง Vanaheim หรือ Alfheim นั้นมันน่าสนใจมากกว่า และทำเอาผมใช้เวลาอยู่ที่ 2 อาณาจักรนี้นานเป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ผมควรจะรู้สึกตื่นเต้นกับ Asgard มากกว่า
ทุกอย่างเป็นไปเหมือนตอนแรกที่ผมได้กล่าวเอาไว้ในช่วงเปิดหัวข้อ ว่า 3-4 ชั่วโมงแรกของเนื้อเรื่อง ผมรู้สึกดีนะ มันสนุกตื่นเต้นน่าติดตามมาก ๆ แต่พอช่วงกลาง ๆ จนไปยันท้ายเกม ผมรู้สึกว่ามันยืดยาว ชวนง่วง และต้องเล่นไปหลับไปตลอดเลย ไม่เหมือนกับภาค 2018 หรือไตรภาคดั้งเดิม ที่ทำได้ดีกว่ามาก
Gameplay
โดยไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเดิมนัก แต่สิ่งที่ผมชอบอย่างนึงก็คือตัวเกมไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่า Kratos นั้นอ่อนแอลง หลังจากที่เราเหล่าผู้เล่นได้ฟาร์มเก็บสะสมค่าประสบการณ์ ชุด และอาวุธกันมาในภาค 2018 คราวนี้เปิดมาเราจะใช้อาวุธได้ทั้งสองแบบตั้งแต่เริ่มเลย และก็ไม่ต้องสอน Atreus แล้ว ใช้เวลาขัดสนิมกันนิดหน่อย ก็จะคุ้นชินกับมันได้ โดยไม่นาน ส่วนตัวผมเล่นในระดับความยาก Give Me No Mercy (จงอย่าปรานีข้า) เป็นระดับที่ยากรองลงจาก Give Me God of War ครับ (จงมอบก็อดออฟวอร์ให้ข้า)
God of War Ragnarök เป็นเกม Action-adventure ที่มีความเป็น Open World นิด ๆ ผสมกับ RPG นิดหน่อย เหมือนกับภาคที่แล้วทุกอย่าง โดยตัวเกมจะมีศูนย์กลางที่ตัวละครหลัก ๆ อย่าง Kratos, Atreus, Mimir ใช้ชีวิตอยู่ รวมไปถึงตัวละครอื่น ๆ ตามเนื้อเรื่อง และ Gameplay หลัก ๆ ก็จะเหมือนกับภาคแรกเป๊ะเลย สองพ่อลูกออกสำรวจ 9 อาณาจักร พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของโลกต่าง ๆ ณ สถานที่ไปเยือน
ระบบต่อสู้ในเกมที่ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือคราวนี้เราจะมีอาวุธใหม่ ที่นอกเหนือจาก Leviathan Axe และ Chaos Blade มาให้ใช้ด้วย ต้องยอมรับว่าตัวเกมในระดับ Give Me No Mercy นั้นมันสนุกมากเลย ด้วยการที่ส่วนตัวผมชอบเกมตระกูล Souls อยู่แล้ว มันทำให้ตลอดการเล่นนั้นเร้าใจ ยาก และท้าทายมาก ๆ
ในภาคนี้นอกจาก Kratos แล้ว เราจะได้เล่นเป็น Atreus ด้วย และจะไม่ใช่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เหมือนที่ได้เล่นเป็น Ellie ใน The Last of Us แต่จะได้เล่นอยู่นานเลย และจะสลับไปมาระหว่างสองพ่อลูกตลอดทั้งเกม รวมถึงตัว Kratos เอง ที่คราวนี้จะไม่ได้มีแค่ Atreus เป็นเพื่อนร่วมทางเพียงคนเดียวแล้ว แต่จะมีอีกหนึ่งตัวละคร ที่เราสามารถ Upgrade เพิ่มความสามารถต่าง ๆ รวมไปถึงชุด และอาวุธให้ตัวละครตัวนั้นได้เช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมขัดใจอยู่ก็คือ บางครั้งการต่อสู้มันรู้สึกไม่ลื่นไหลสักเท่าไร โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องการจะฟื้นฟูพลังชีวิตของตัวเอง เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าผมเล่นในโหมด Give Me No Mercy มันจึงมีหลายช่วงที่เกือบตายตลอด อย่างน้อยก็อยากได้วิธีการฟื้นฟูพลังชีวิตที่สะดวกกว่านี้ แต่เมื่อเล่นไปจนได้พลัง Spartan Rage ที่ใช้แล้วจะฟื้นฟูพลังชีวิตได้ ก็ดีขึ้นเยอะเลย
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในส่วนของ Gameplay เลยก็คือการต่อสู้กับเหล่าบอสต่าง ๆ ที่เราจะต้องศึกษา Moveset การเคลื่อนไหว ลีลา ท่วงท่า ต่าง ๆ เพื่อหาจังหวะเข้าโจมตี และการใช้ธาตุของอาวุธต่าง ๆ ผสมผสานกัน และในเกมก็มี optional boss ให้ต่อสู้ค่อนข้างเยอะ ถึงแม้ว่ามันจะมีหน้าตาเหมือน ๆ กัน แต่รูปแบบการต่อสู้ก็จะแตกต่างกันไป
มันจะมีอยู่หลายตัว ที่ทำเอาผมต้องกด Reload Checkpoint อยู่บ่อย ๆ ก่อนกลับเข้ามาสู้ใหม่ วนลูปไม่รู้จบ ราวกับเล่น Dark Souls อยู่ มันเป็นความสนุกที่ผมชอบมากเลย และรู้สึกดีที่ทีมงานเอาใจใส่ในจุดนี้ และมอบความท้าทายให้ผู้เล่นในหลาย ๆ รูปแบบ
ทักษะ หรือการ Upgrade ความสามารถต่าง ๆ ของผู้เล่นยังคงเหมือนเดิม ไม่แตกต่างจากภาคที่แล้วมากนัก ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วผมผิดหวังนิดหน่อย เพราะเดิมทีผมอยากให้มันสามารถปรับแต่งได้มากกว่านี้ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเดิมทีแล้ว เกมมันมีข้อจำกัดในการเลือกใช้อาวุธของตัวละครอยู่ สุดท้ายแล้วการเพิ่มความสามารถของตัวละคร จะไปอยู่ที่การ Upgrade ชุดเกราะ และอาวุธของผู้เล่น รวมไปถึงการเปิดกล่องสมบัติแทน
Graphics
God of War Ragnarök ทำได้ตามมาตรฐานของเกม PlayStation 5 ทั่วไป นั่นหมายความว่า ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่ก็ทำได้ดีในระดับมาตรฐานของเกม PS5 จริง ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเกมยังคงต้องลงให้กับ PS4 ด้วย มันจึงเหมือนถูกดึงคุณภาพกราฟิกลงมาเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากเราเอาไปเปรียบเทียบกับ Horizon Forbidden West นั้น เกมนั้นทำได้ดีกว่ามากเลยทีเดียว
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชม คือทีมงานได้จัดเอาโหมดกราฟิกมาให้ปรับได้หลากหลายโหมดมาก ๆ เลย โดยเวอร์ชันที่ผมได้เล่น ก็คือเวอร์ชัน PS5 และมีมาทั้งหมด 6 รูปแบบด้วยกันครับ
-
Favor Performance โหมด 1440-2160p แบบ dynamic resolution และ 60FPS Target
-
Favor Performance + HFR โหมด 1440p แบบ Unlocked 60FPS
-
Favor Performance + HFR + VRR เหมือนกันทุกอย่าง เพิ่มเติมคือใส่ระบบ VRR ของทีวีและมอนิเตอร์เข้ามาด้วย (ต้องรองรับ)
-
Favor Quality โหมด 2160p Native 4K และ 30FPS Target
-
Favor Quality + HFR 1800-2160p และ 40FPS Target
-
Favor Quality + HFR + VRR 1800-2160p Unlocked 40FPS และเพิ่ม VRR ของทีวีและมอนิเตอร์เข้ามาด้วย (ต้องรองรับ)
จากการรีวิวในครั้งนี้ ผมเล่นครึ่งเกมแรกในแบบ Favor Performance + HFR ก่อนที่จะปรับมาเล่นในแบบ Favor Performance ช่วงกลาง ๆ ไปยันจบเกม และตลอดทั้งเกมผมเล่นผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ 1440p 144hzโดยในส่วนของ Favor Performance + HFR นั้น ทำ Frame Rate ได้มากกว่า 60FPS จริง และรายละเอียดหน้าจอได้แสดงออกมาว่ารันได้ถึง 120FPS เลยในบางช่วง แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่ามันรันถึง 1440p สักเท่าไร
ในส่วนของ Favor Performance นั้นเห็นได้ชัดเลยว่ารันที่ 1440p แบบเต็ม ๆ ไม่ลด และรายละเอียดหน้าจอได้ Lock ไว้ที่ 60hz ตัวเกมเล่นได้ที่ 60FPS สบาย ๆ ไม่มีปัญหาอะไรครับ
สิ่งหนึ่งที่ต้องชม คือทีมงานได้เก็บรายละเอียดของตัวละครออกมาได้ค่อนข้างดี รวมไปถึงแสงและเงาในบางฉากที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ จะมีติ ก็อาจจะเป็นเรื่อง Texture ที่มีบางจุดนั้นหยาบเล็กน้อย แต่ก็สังเกตได้ยาก
สรุป
God of War Ragnarök เป็นเกมที่ดี แต่ยังไม่ใช่เกมที่ยอดเยี่ยมที่สุด ผู้เล่นจะรู้สึกสนุกหากได้สัมผัสกับภาคก่อนมาแล้ว ในเกมนี้เราจะได้สานต่อเรื่องราวหลังจากฉากจบของ God of War (2018) การกลับมาของ Kratos และตัวละครอื่น ๆ อาจจะทำให้เราหายคิดถึงกันไปบ้าง แต่หลังจากนี้แล้ว เรื่องราวบทใหม่ของ God of War นั้นจะเป็นอย่างไร เราก็ยังไม่อาจทราบได้
ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น เป็นเหมือนที่ผมได้กล่าวเอาไว้ในช่วงต้น God of War Ragnarök มันไม่ควรจะเป็นบทสรุปเรื่องราวของ Kratos และ Atreus เลย เกมมันควรจะถูกทำให้เป็นไตรภาค เพราะว่าเดิมทีแล้ว God of War (2018) นั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีแค่ไหน มันก็ไม่ควรจะถูกตัดบทให้จบลงในภาคนี้
“God of War Ragnarök มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนดู A New Hope อยู่ดี ๆ แล้วก็ข้ามไป Return of the Jedi เลย ทั้ง ๆ ที่ควรดู Empire Strikes Back ก่อน”
หรือถ้าใครไม่เคยดู Star Wars มันก็เหมือนกับว่าเราได้ดูหนังภาคแรก หนังที่ปูทางเอาไว้อย่างดี พร้อมกับฉากจบที่จะแสดงให้เห็นถึงอนาคตของหนังไตรภาคใหม่ ที่สามารถต่อยอดและไปได้อีกไกลมาก ๆ และเมื่อภาคต่อเข้าฉาย กลับเป็นหนังที่เล่นสรุปเรื่องราวทั้งหมดภายใน 2 ภาค และเป็นการสรุปที่ไม่ได้คลายปมอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราสงสัยเอาไว้ในภาคแรกอีกด้วย
ปัญหาก็คือ ด้วยการที่ตัวเกมตัดสินใจมาจบบทใน Ragnarök นี้ ทำให้ผมรู้สึกเสียดายมาก เพราะในโลกตามตำนานนอร์สนั้นยังมีอะไรให้เล่าอีกเยอะมาก และตัวเกมสามารถต่อยอดตรงนั้นไปได้ในภาคต่อ ก่อนที่จะมาสรุปเรื่องราวใน Ragnarök และอาจจะเป็นบทสรุปที่ยอดเยี่ยมสำหรับ Kratos และ Atreus เองอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตำนานของเทพเจ้าสงครามก็อาจจะมีอยู่ต่อไป และไม่แน่ในอนาคตเราก็อาจจะได้เห็นตำนานบทใหม่ ในโลกอื่น ๆ อีกก็เป็นได้